การกู้ร่วมวิธีการแก้ปัญหาและแบ่งเบาภาระทางการเงิน
- By puri_admin
ตามปกติหลายคนอาจจะเคยชินกับการกู้เงินซื้อบ้านหรือผ่อนบ้านเพียงคนเดียว ด้วยการยื่นเอกสารและข้อมูลทางด้านการเงินเพื่อให้สถาบันการเงินหรือธนาคารเป็นผู้พิจารณาว่าจะอนุมัติการกู้เงินซื้อบ้านหรือผ่อนบ้านหรือไม่ บางครั้งหากข้อมูลทางการเงินของผู้ยื่นกู้เพื่อซื้อบ้านไม่มั่นคงหรือแข็งแรงพอ ธนาคารอาจจะไม่อนุมัติเงินในการซื้อบ้านหรือผ่อนบ้านหรืออนุมัติวงเงินน้อยเกินไปทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายกับผู้ที่ต้องการซื้อบ้านได้ การกู้ร่วมเพื่อซื้อบ้านจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถแก้ปัญหาและแบ่งเบาภาระทางการเงินของการกู้เงินซื้อบ้านได้
การกู้ร่วมในการซื้อบ้านคืออะไร
การกู้ร่วมเพื่อซื้อบ้านก็คือการขอสินเชื่อร่วมกันของคนสองคนเพื่อจะนำเงินที่ได้นั้นไปซื้อบ้านและผ่อนชำระกับธนาคารตามกำหนดและเงื่อนไข ซึ่งธนาคารจำต้องนำเอกสารข้อมูลทางด้านการเงินของผู้ที่มาขอสินเชื่อเพื่อนำเงินไปซื้อบ้านของผู้กู้ร่วมมาประเมินในหลักเกณฑ์เดียวกันของผู้กู้เงินคนแรก ซึ่งการกู้ร่วมเพื่อซื้อบ้านนั้นจะแตกต่างกับการค้ำประกัน เพราะการกู้ร่วมเพื่อซื้อบ้านคือการแบกรับการผ่อนชำระคนละครึ่ง อย่างเช่น หากคุณกู้ร่วมเพื่อซื้อบ้านสองคนวงเงิน 1,000,000 บาทเท่ากับคนนึงมีภาระในการผ่อนบ้าน 500,000 บาท และอีก 500,000 บาท ถือเป็นภาระการผ่อนบ้านของอีกคนหนึ่ง ซึ่งทั้งสองคนต้องชำระเงินตามเงื่อนไขการกู้เหมือนกัน หรือจะเรียกว่าการผ่อนบ้านแบบหารสองก็ได้
แล้วใครที่จะกู้เงินซื้อบ้านร่วมกันได้บ้าง
การกู้เงินซื้อบ้านหรือผ่อนบ้านร่วมกันนั้นจะต้องเป็นบุคคลที่เป็นญาติพี่น้องกัน อาทิ บิดา มารดา พี่น้องร่วมสายเลือด หรือต้องเป็นสามีภรรยาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงจะมีสิทธิ์กู้เงินเพื่อซื้อบ้านหรือผ่อนบ้านร่วมกันได้
ทำไมต้องกู้ร่วมเพื่อซื้อบ้าน
ส่วนใหญ่การกู้ร่วมเพื่อซื้อบ้านหรือผ่อนบ้านจะใช้ในกรณีที่บุคคลคนเดียวไม่มีความมั่นคงทางการเงินมากพอที่จะได้รับการอนุมัติตามเงื่อนไขการกู้ของสถาบันการเงิน อย่างเช่นผู้ที่เงินเดือนน้อย หรือผู้ที่เคยติดแบล็คลิสต์มาก่อน ธนาคารยังไม่เชื่อถือว่าจะสามารถผ่อนชำระตามเงื่อนไขได้ทั้งหมด ทำให้ต้องอาศัยการกู้ร่วมเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางการเงิน หรือผู้ที่มีการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ร่วมกัน หรือเพื่อให้ได้วงเงินกู้ตามจำนวนที่ต้องการ ซึ่งโดยส่วนใหญ่วงเงินกู้สำหรับซื้อบ้านนั้นอยู่ที่ 80 – 110% ของราคาประเมินอสังหาริมทรัพย์ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการพิจารณาของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง
ข้อดีของการกู้ร่วมเพื่อซื้อบ้านมีอะไรบ้าง
- ได้รับวงเงินเพิ่มขึ้น ยิ่งได้รับวงเงินอนุมัติมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งลดภาระการต้องหาเงินก้อนมาดาวน์บ้านมากเท่านั้น หลายคนอาจจะใช้วิธีการกู้ร่วมเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายตรงนี้
- ไม่ต้องรอนาน ผู้ที่เงินเดือนน้อยสามารถยื่นกู้ร่วมเพื่อซื้อบ้านได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้เงินเดือนขึ้นจนถึงจุดที่จะได้รับอนุมัติหรือได้วงเงินตามต้องการ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาหลายปีในการซื้อบ้าน แต่การกู้ร่วมเพื่อซื้อบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ธนาคารจะนำข้อมูลของผู้กู้ร่วมมาประเมินด้วย ทำให้ถือว่าผู้กู้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น เพราะเป็นศักยภาพในการผ่อนชำระคืนของคนสองคน
- สามารถวางแผนการเงินได้ดีขึ้น ด้วยวงเงินที่ได้รับการอนุมัติที่มากขึ้น ทำให้คุณสามารถจัดการวางแผนการเงินได้ดียิ่งขึ้น มีเงินเหลือสำหรับการซื้อของตกแต่งบ้าน
การผ่อนชำระเมื่อได้รับอนุมัติ
ผู้ที่ยื่นกู้ร่วมเพื่อซื้อบ้านต้องผ่อนชำระตามเงื่อนไขของการกู้ร่วมกัน แต่หากเมื่อใครคนใดคนหนึ่งต้องการถอนตัวก็สามารถแจ้งสถาบันการเงินหรือธนาคาร เพื่อให้ธนาคารประเมินศักยภาพของผู้ที่เหลืออยู่ว่าพอจะชำระหนี้ต่อได้หรือไม่ หากตอนนั้นผู้ที่เหลืออยู่มีศักยภาพที่จะชำระหนี้การผ่อนบ้านได้เพียงคนเดียว ธนาคารก็จะอนุมัติให้สามารถผ่อนชำระสินเชื่อต่อไปเพียงคนเดียวได้ ส่วนหลังการผ่อนชำระหมดสิ้น หากยังเป็นการยื่นกู้ร่วม ผู้กู้ทั้งสองคนสามารถตกลงกันได้ว่าจะให้สินทรัพย์ตกเป็นของใคร หรือจะเป็นกรรมสิทธิ์ของทั้งสองคนก็ได้
หากคุณกำลังมองหาบ้านสักหลัง แต่อยากเพิ่มความมั่นคงทางการเงิน หรือไม่อยากมีภาระการผ่อนชำระที่หนักหนามากจนเกินไปหนัก การอาศัยบุคคลสายเลือดเดียวกัน หรือผู้ที่เป็นสามีภรรยากันเพื่อขอยื่นกู้ร่วมกันก็ถือเป็นทางเลือกที่ดีไม่น้อย เพราะนอกจากจะทำให้คุณเป็นเจ้าของบ้านในฝันได้เร็วขึ้น ยังแบ่งเบาภาระทางการเงินของคุณได้อีกด้วย